ลงชื่อสนับสนุน ร่างพระราชบัญญัติ สภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ พ.ศ.2567

 

ร่างพระราชบัญญัติ สภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ พ.ศ.2567

มาตรา 1  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ พ.ศ.2567”

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน

 มาตรา 4  ในพระราชบัญญัตินี้

“สมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ” หมายความว่า ผู้ที่ขับรถแท็กซี่และรถตู้โดยสารที่สภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติได้รับจดทะเบียนและออกใบอนุญาตให้เป็นสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ และให้หมายความรวมถึงยานพาหนะหรืออากาศยานไร้คนขับที่รับจ้างนำผู้โดยสารจากสถานที่หนึ่งไปอีกสถานที่หนึ่ง

“นายกพิเศษ” หมายความว่า นายกพิเศษแห่งสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

“นายก” หมายความว่า นายกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

“สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

“ข้อบังคับ” หมายความว่า ข้อบังคับสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

“ใบอนุญาต” หมายความว่าใบอนุญาตให้เป็นสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

“รัฐมนตรี” หมายความว่ารัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

“ผู้รับบริการเรียกรถ” หมายความว่าบุคคลหรือนิติบุคคลใดเป็นผู้จัดหา ผู้ว่าจ้าง เป็นคนกลางจัดทำโปรแกรมประยุกต์รับคำขอบริการแล้วนำคำขอเหล่านั้นมาเรียกสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติไปไช้บริการ

“อู่รถ” หมายความว่า บุคคล นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัท หรือคณะบุคคลจำกัด บริษัทมหาชน จำกัด ที่นำรถแท็กซี่ หรือรถตู้โดยสารไปให้สมาชิกสภาวิชาชีพผู้ขับขี่รถแท็กซี่แห่งชาติ เช่า หรือเช่าซื้อ

“เครื่องแบบ” หมายความว่า เครื่องแบบที่ประดับเครื่องหมาย คณะกรรมการ สภาวิชาชีพผู้ขับรถแท็กซี่แห่งชาติ พนักงานสภาวิชาชีพผู้ขับรถแท็กซี่แห่งชาติ และสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ สวมใส่

“มูลนิธิ” หมายความว่า มูลนิธิคุ้มครองผู้ใช้บริการรถยนต์สาธารณะ

“ผู้มีอิทธิพล” หมายความว่า ผู้มีอำนาจในด้านที่ไม่เป็นทางการและเป็นผู้ที่มีความสามารถให้สมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ปฏิบัติตาม โดยการโน้มน้าวชักจูง หรือใช้วิธีการอื่นใดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ/หรือไม่ขออนุญาตสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติแล้วชักจูงชี้นำสมาชิกไปใช้งานเพื่อผลประโยชน์ให้ตัวเอง

“ผู้ยากไร้” หมายความว่า ผู้ที่ยากจน ซึ่งมีสิทธิ์ได้รับการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์การสงเคราะห์ของสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

2

มาตรา 5  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

หมวด 1

สภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

มาตรา 6  ให้มีสภาขึ้นสภาหนึ่งเรียกว่า “สภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ”ประกอบด้วยคณะกรรมการสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ และสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ มีวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

ให้ สภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ เป็นนิติบุคคล

มาตรา 7  สภาวิชาชีพผู้ขับขี่รถแท็กซี่แห่งชาติมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

(1) ส่งเสริมการศึกษาและการประกอบวิชาชีพผู้ขับขี่รถแท็กซี่และรถตู้โดยสาร

(2) ควบคุมจริยธรรมของผู้ขับขี่รถแท็กซี่และรถตู้โดยสาร

(3) ส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติของสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

(4) ส่งเสริมและจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

(5) ส่งเสริม ช่วยเหลือ แนะนำ  และให้บริการรถแท็กซี่และรถตู้โดยสารแก่ประชาชนในเรื่องที่เกี่ยวกับการเดินทางจากสถานที่หนึ่งไปอีกสถานที่หนึ่ง

(6) ส่งเสริมและพัฒนาระบบติดต่อสื่อสารเพื่อสนับสนุนการให้บริการผู้โดยสาร ให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและปลอดภัยอันก่อให้ เกิดประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่ทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ 

มาตรา 8  สภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) จดทะเบียนและออกใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้

(2) ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ และตามอำนาจหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 9  สภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติอาจมีรายได้ดังต่อไปนี้

(1) ค่าจดทะเบียน ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้

(2) เงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน

(3) รายได้จากทรัพย์สิน จากการจัดทำโปรแกรมประยุกต์รับเรียกรถแท็กซี่ รถตู้โดยสาร และ/หรือกิจการอื่น

(4) ทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์

มาตรา 10  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมดำรงตำแหน่งนายกพิเศษแห่งสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ และมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้

3

หมวด 2

สมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

มาตรา 11  สมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ได้แก่ผู้ให้บริการรถแท็กซี่และรถตู้โดยสารตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 12  สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ มีดังนี้

(1) แสดงความเห็นเป็นหนังสือเกี่ยวกับการปฏิบัติตามวัตถุประสงค์หรืออำนาจหน้าที่ของสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ โดยส่งไปยังคณะกรรมการสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ และในกรณีที่สมาชิกร่วมกันตั้งแต่หนึ่งร้อยคนขึ้นไป เสนอให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติพิจารณาเรื่องใดที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามวัตถุประสงค์หรืออำนาจหน้าที่ของสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ คณะกรรมการสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติต้องพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้เสนอทราบโดยมิชักช้า

(2) ซักถามเกี่ยวกับการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหรือเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไปของสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ในการประชุมใหญ่ของสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

 (3) เลือกหรือรับเลือกตั้งเป็นนายกหรือกรรมการสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

(4) ผดุงไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพและปฏิบัติตนตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 13  สมาชิกภาพของสมาชิกย่อมสิ้นสุดลงเมื่อ

(1) ตาย

(2) ขาดจากการเป็นผู้ให้บริการรถแท็กซี่และรถตู้โดยสารตามมาตรา 44

หมวด 3

คณะกรรมการสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

มาตรา 14  ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ”ประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงคมนาคมหนึ่งคน ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติหนึ่งคน ผู้แทนสภาทนายความหนึ่งคน และผู้แทนกรมการขนส่งทางบกหนึ่งคน เป็นกรรมการ และนายก หรือกรรมการอื่นอีกไม่เกินสามสิบสองคน ซึ่งสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติทั่วประเทศได้เลือกตั้งขึ้นโดยกรรมการดังกล่าวมาจากผู้ให้บริการแท็กซี่และรถตู้โดยสารที่ให้บริการ และ/หรือมีภูมิลำเนาอาศัยในภูมิภาคตามเทียบเคียงพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งกองบัญชาการตำรวจภาค 1- 9 ไม่น้อยกว่า 9 คน

มาตรา 15  ให้นายกแต่งตั้งกรรมการอื่นตามมาตรา 14 เป็นรองนายก เลขาธิการ นายทะเบียน เหรัญญิก สิทธิสวัสดิการ ประชาสัมพันธ์ และตำแหน่งอื่นตามความเหมาะสมด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการโดยให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดในข้อบังคับ

มาตรา 16  ให้นายกและกรรมการที่ได้รับเลือกตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปี แต่จะดำรงตำแหน่งเกินกว่าสองวาระติดต่อกันมิได้

4

มาตรา 17  สมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ที่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตก่อนวันเลือกตั้งนายก หรือกรรมการ ไม่น้อยกว่าสามสิบวันมีสิทธิเลือกตั้งนายกและหรือกรรมการสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ 

ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกหรือกรรมการจะต้องเป็นผู้ซึ่งได้จดทะเบียน และรับใบอนุญาตมาแล้วรวมกันไม่น้อยกว่าสิบปีก่อนวันเลือกตั้งนายกหรือกรรมการ

มาตรา 18  การเลือกตั้งนายกและกรรมการตามมาตรา 14 สมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติต้องมาใช้สิทธิด้วยตนเองโดยการลงคะแนนลับของสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติให้บริการอยู่ ณ จังหวัดใด ให้ออกเสียงลงคะแนนที่จังหวัดนั้นหรือจะไปออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ก็ได้

หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งนายกและกรรมการ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับ

มาตรา 19  ให้คณะกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ควบคุมการเลือกตั้งนายกและกรรมการให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับ

มาตรา 20  เมื่อมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการ นายก หรือกรรมการคนใดคนหนึ่งกระทำผิดวัตถุประสงค์ของ สภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติหรือกระทำการอันเป็นการเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงแก่สภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการ นายกหรือกรรมการคนนั้นออกจากตำแหน่งได้

ในกรณีที่รัฐมนตรีจะมีคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งผู้แทนกระทรวงคมนาคมหนึ่งคน ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติหนึ่งคน ผู้แทนจากมูลนิธิคุ้มครองผู้ใช้บริการรถยนต์สาธารณะหนึ่งคน และซึ่งเป็นทนายความหนึ่งคน กับ สมาชิกสภาวิชาชีพผู้ขับขี่รถแท็กซี่แห่งชาติอื่นอีกห้าคนเป็นคณะกรรมการสอบสวน คณะกรรมการสอบสวนต้องรีบทำการสอบสวนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แล้วเสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นต่อรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการ คำสั่งของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

มาตรา 21  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ นายกหรือกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่งเป็นการเฉพาะตัว เมื่อ

(1) ตาย

(2) ลาออก

(3) ขาดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกหรือกรรมการตามมาตรา 17 วรรคสอง

(4) รัฐมนตรีมีคำสั่งให้ออกจากตำแหน่งเป็นการเฉพาะตัวตามมาตรา 20

 (5) ขาดจากการเป็น สมาชิกสภาวิชาชีพผู้ขับขี่รถแท็กซี่แห่งชาติ ตามมาตรา 44

(6) เป็นผู้มีกายทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

(7) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือ

(8) ต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก


5

มาตรา 22  ในกรณีที่คณะกรรมการทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งและยังไม่มีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ให้คณะกรรมการนั้นปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่ เว้นแต่กรณีที่รัฐมนตรีมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 20 

ให้คณะกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งนั้นไปพลางก่อนจนกว่าคณะกรรมการใหม่จะเข้ารับหน้าที่ โดยให้ประธานคณะกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติปฏิบัติหน้าที่นายกในการปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนระหว่างที่คณะกรรมการใหม่ยังไม่ได้เข้ารับหน้าที่คณะกรรมการที่พ้นจากตำแหน่ง หรือคณะกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติแล้วแต่กรณี มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 27 (1) เฉพาะกิจการที่มีลักษณะต่อเนื่องและเท่าที่จำเป็นเพื่อให้งานประจำของคณะกรรมการดำเนินไปได้โดยไม่เป็นที่เสียหายหรือหยุดชะงัก กับจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการใหม่ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คณะกรรมการเดิมพ้นจากตำแหน่ง โดยจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อช่วยเหลือจัดการเลือกตั้งดังกล่าวด้วยก็ได้

มาตรา 23  เมื่อนายกหรือกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระให้เลือกตั้งนายกหรือกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนายกหรือกรรมการนั้นว่างลง เว้นแต่วาระที่เหลืออยู่ไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน

ให้ผู้ซึ่งเป็นนายกหรือกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งแทนนั้น อยู่ในตำแหน่งตามวาระของนายกหรือกรรมการซึ่งตนแทน 

มาตรา 24  การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม และให้นายกหรือผู้รักษาการแทนเป็นประธานในที่ประชุม มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา 25 ในกรณีที่นายกพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ หรือนายกไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้รองนายกเป็นผู้รักษาการแทน ถ้ารองนายกพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ หรือรองนายกไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาการแทน

มาตรา 26  นายกพิเศษหรือผู้แทนจะเข้าฟังการประชุมและชี้แจงแสดงความเห็นในที่ประชุมคณะกรรมการหรือจะส่งความเห็น เป็นหนังสือไปยังสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติในเรื่องใด ๆ ก็ได้แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

มาตรา 27  ให้คณะกรรมการ(สภา1วิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ)มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

  1. บริหารกิจการของสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดในมาตรา 7

     (2) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อทำกิจการหรือพิจารณาเรื่องต่าง ๆ อันอยู่ในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ของสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ เว้นแต่กิจการซึ่งมีลักษณะหรือสภาพที่ไม่อาจมอบหมายให้กระทำการแทนกันได้

     (3) ออกข้อบังคับสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ และข้อบังคับว่าด้วย

(ก) การเป็นสมาชิกและการขาดจากสมาชิกของสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

(ข) การเรียกเก็บและชำระค่าบำรุงและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ

6

(ค) การแจ้งย้ายสถานที่ประกอบอาชีพของสมาชิกสภาแท็กซี่แห่งชาติ

(ง) การประชุมคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ

(จ) เรื่องอื่น ๆ อันอยู่ในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ของสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ หรืออยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติตามกฎหมายอื่นรวมทั้งการแต่งตั้ง การบังคับบัญชา การรักษาวินัย และการออกจากตำแหน่งของพนักงานสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

มาตรา 28  ข้อบังคับนั้นเมื่อได้รับความเห็นชอบจากนายกพิเศษ และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

มาตรา 29  ให้นายกเสนอร่างข้อบังคับต่อนายกพิเศษโดยไม่ชักช้า นายกพิเศษอาจยับยั้งร่างข้อบังคับนั้นได้พร้อมทั้งแสดงเหตุผลโดยแจ้งชัด ในกรณีที่มิได้มีการยับยั้งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบังคับที่นายกเสนอ ให้ถือว่านายกพิเศษให้ความเห็นชอบในร่างข้อบังคับนั้น

มาตรา 30  ถ้านายกพิเศษยับยั้งร่างข้อบังคับใด ให้คณะกรรมการประชุมพิจารณาอีกครั้งหนึ่งโดยพิจารณาเหตุผลของนายกพิเศษประกอบด้วย ในการประชุมนั้น ถ้ามีเสียงยืนยันถึงสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งคณะ ให้นายกเสนอร่างข้อบังคับนั้นต่อนายกพิเศษอีกครั้งหนึ่ง ถ้านายกพิเศษไม่ให้ความเห็นชอบในร่างข้อบังคับหรือไม่คืนร่างข้อบังคับนั้นมาภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบังคับที่นายกเสนอ ให้นายกดำเนินการประกาศใช้ข้อบังคับนั้นในราชกิจจานุเบกษาต่อไปได้

มาตรา 31  สมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคนมีสิทธิเสนอขอให้คณะกรรมการพิจารณาแก้ไขข้อบังคับได้

มาตรา 32  ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้นายกมีอำนาจกระทำการแทนสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ แต่นายกอาจจะมอบหมายเป็นหนังสือให้กรรมการอื่นกระทำการแทนตนเฉพาะในกิจการใดก็ได้

หมวด 4 

การขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็น สมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

มาตรา 33  ห้ามมิให้ผู้ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาต หรือผู้ซึ่งขาดจากการเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ หรือต้องห้าม ทำการเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติโดยการรับจ้างขนคนโดยสาร จากสถานที่หนึ่งไปอีกสถานที่หนึ่ง  ทั้งนี้ เว้นแต่จะได้กระทำในฐานะเป็นข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติทางราชการ หรือกฎหมายอื่น

มาตรา 34  การขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาต การรับจดทะเบียนและออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการขอบอกเลิกจากการเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 35  ผู้ขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

  1. มีสัญชาติไทย


7

(2) อายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ในวันยื่นคำขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาต

(3) สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า จากสถาบันการศึกษาซึ่งสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ เห็นว่าสถาบันการศึกษานั้นมีมาตรฐานการศึกษาที่ควรเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติได้ และเป็นผู้ได้รับอนุญาตขับขี่รถยนต์สาธารณะ หรือเทียบเท่า

(4) ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดีและไม่เป็นผู้ได้กระทำการใดซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่น่าไว้วางใจในความซื่อสัตย์สุจริต

(5) ไม่อยู่ในระหว่างต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

(6) ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในคดีที่คณะกรรมการเห็นว่าจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ

(7) ไม่เป็นบุคคลผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ล้มละลาย

(8) ไม่เป็นโรคติดต่อซึ่งเป็นที่รังเกียจแก่สังคม

(9) ไม่เป็นผู้มีกายพิการหรือจิตบกพร่องอันเป็นเหตุให้เป็นผู้หย่อนสมรรถภาพในการประกอบอาชีพผู้ให้บริการรถยนต์โดยสารสาธารณะ(ประเภทแท็กซี่ และรถตู้โดยสาร)

(10 ไม่เป็นผู้ต้องห้ามมิให้ยื่นคำขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตตามมาตรา 71

มาตรา 36  ภายใต้บังคับมาตรา 38 เมื่อคณะกรรมการได้รับคำขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตแล้ว เห็นว่าผู้ยื่นคำขอมีคุณสมบัติตามมาตรา 35 ให้คณะกรรมการพิจารณารับจดทะเบียนและออกใบอนุญาตให้ผู้ยื่นคำขอโดยเร็ว ในกรณีที่คณะกรรมการไม่รับจดทะเบียนและออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ยื่นคำขอคณะกรรมการต้องแสดงเหตุผลของการไม่รับจดทะเบียนและออกใบอนุญาตดังกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในกรณีเช่นนี้ผู้ยื่นคำขอมีสิทธิอุทธรณ์การไม่รับจดทะเบียนและออกใบอนุญาตของสภาวิชาชีพผู้ขับขี่แท็กซี่แห่งชาติ ต่อนายกพิเศษได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับ คำวินิจฉัยของนายกพิเศษให้เป็นที่สุด

มาตรา 37  ให้ผู้ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ หรือผู้ได้รับการต่ออายุใบอนุญาตแล้วเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

มาตรา 38  ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ เป็นผู้ที่ไม่เคยเป็นผู้ให้บริการรถยนต์สาธารณะ(ประเภทแท็กซี่ และรถตู้โดยสาร) คณะกรรมการจะรับจดทะเบียนและออกใบอนุญาตให้ก็ต่อเมื่อผู้ยื่นคำขอได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์สาธารณะ หรือเทียบเท่า และผ่านการฝึกอบรมจากสถาบันพัฒนาผู้ขับรถยนต์สาธารณะ 

เมื่อเห็นเป็นการสมควร คณะกรรมการจะสั่งยกเว้นให้ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในข้อบังคับไม่ต้องเข้ารับการฝึกอบรมตามวรรคหนึ่งก็ได้

การฝึกอบรมตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักสูตร วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับ

8

มาตรา 39  ใบอนุญาตให้มีอายุใช้ได้เป็นเวลาสองปีนับแต่วันออกใบอนุญาต เว้นแต่ใบอนุญาตประเภทต่อใบอนุญาตครั้งที่ 3 ของผู้ได้รับใบอนุญาตให้มีอายุ 5 ปี

สมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติผู้ใดที่ใบอนุญาตมีอายุใช้ได้หนึ่งปี หากประสงค์จะทำการเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติต่อไป ให้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตภายในเก้าสิบวันก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ การต่ออายุใบอนุญาตคราวหนึ่งให้ใช้ได้สองปีนับแต่วันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ 

เมื่อต่ออายุใบอนุญาต ครบ 3 ครั้ง และการต่อใบอนุญาตครั้งที่ 4 เป็นต้นไปให้มีอายุทุก 5 ปี

ในกรณีที่คณะกรรมการไม่ต่ออายุใบอนุญาต ให้นำบทบัญญัติมาตรา 36 วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของนายกพิเศษให้เป็นที่สุด

มาตรา 40  สมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ที่ขาดต่ออายุใบอนุญาตตามมาตรา 39 วรรคสอง มีสิทธิได้รับการต่ออายุใบอนุญาต หากได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตภายในเวลาไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุและยอมชำระเงินค่าธรรมเนียมเพิ่มร้อยละยี่สิบห้าของค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตนั้น

มาตรา 41  ใบอนุญาตให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในข้อบังคับโดยอย่างน้อยต้องมีชื่อวัน เดือน ปี เกิด ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน ภูมิลำเนาในการประกอบอาชีพ รูปถ่ายของผู้ถือใบอนุญาต เลขหมายใบอนุญาต วันออกใบอนุญาต และวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ

ในกรณีที่ใบอนุญาตสูญหายหรือชำรุดเสียหายในสาระสำคัญ ให้ผู้รับใบอนุญาตยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบการสูญหายหรือชำรุดเสียหาย

มาตรา 42  สมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ต้องมีที่จดทะเบียนภูมิลำเนาการประกอบอาชีพเพียงแห่งเดียวตามที่ระบุไว้ในคำขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาต หรือตามที่ได้แจ้งย้ายภูมิลำเนาต่อนายทะเบียนสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติในภายหลัง ให้นายทะเบียนสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติจดแจ้งทะเบียนตามวรรคหนึ่งไว้ในทะเบียนสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

มาตรา 43  เมื่อปรากฏต่อคณะกรรมการสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติผู้ใด เป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 35 ไม่ว่าจะขาดคุณสมบัติก่อนหรือหลังจากจดทะเบียนและรับใบอนุญาต ให้สมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติผู้นั้นพ้นสภาพการเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ และให้คณะกรรมการจำหน่ายชื่อสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติผู้นั้นออกจากทะเบียนสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

บทบัญญัติในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติผู้ต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดหลังจากสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติผู้นั้นได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตแล้ว

เมื่อมีการจำหน่ายชื่อสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติออกจากทะเบียน สมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติมาตรา 36 วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลมและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของนายกพิเศษให้เป็นที่สุด

ให้นำบทบัญญัติมาตรา 70 มาใช้บังคับแก่การจำหน่ายชื่อสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ออกจากทะเบียนสภาวิชาชีพทั้งสยามแห่งชาติตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม

9

มาตรา 44  สมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติขาดจากการเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ เมื่อ

(1) ตาย

(2) ขอบอกเลิกจากการเป็น สมาชิกสภาวิชาชีพทักษิณแห่งชาติ

(3) ขาดต่อใบอนุญาตตามมาตรา 39 วรรคสอง

(4) ถูกจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ตามมาตรา 43 หรือ

(5) ถูกลบชื่อออกจากทะเบียนสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติตามมาตรา 66 มาตรา 67 มาตรา 68 หรือมาตรา 69

หมวด 5

การประชุมใหญ่ของสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

มาตรา 45  การประชุมใหญ่ของสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ได้แก่การประชุมใหญ่สามัญประจำปี และการประชุมใหญ่วิสามัญ

มาตรา 46  คณะกรรมการต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีปีละหนึ่งครั้งภายในเดือนเมษายนของทุกปี

มาตรา 47  เมื่อมีเหตุอันสมควร คณะกรรมการจะจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อใดก็ได้

เมื่อสมาชิกมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคนเข้าชื่อร้องขอเป็นหนังสือให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ คณะกรรมการต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ เว้นแต่คณะกรรมการเห็นว่าเรื่องที่ขอให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อพิจารณานั้นเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ หรือไม่มีเหตุอันสมควรที่จะได้รับการพิจารณาโดยที่ประชุมใหญ่ของสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

หนังสือร้องขอตามวรรคสองให้ระบุโดยชัดแจ้งว่าประสงค์ให้เรียกประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องใดและด้วยเหตุอันสมควรอย่างใด

มาตรา 48  ในกรณีที่คณะกรรมการไม่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อคณะกรรมการได้รับคำร้องขอตามมาตรา 47 วรรคสอง คณะกรรมการต้องแจ้งเหตุผลของการไม่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญดังกล่าวโดยชัดแจ้งไปยังสมาชิกคนใดคนหนึ่งซึ่งร่วมเข้าชื่อร้องขอภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ในกรณีเช่นนี้สมาชิกผู้ร่วมเข้าชื่อร้องขอนั้นทั้งหมดมีสิทธิร่วมเข้าชื่อคัดค้านการไม่จัดการประชุมใหญ่วิสามัญนั้นต่อนายกพิเศษได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับ

คำวินิจฉัยของนายกพิเศษให้เป็นที่สุด และในกรณีที่นายกพิเศษมีคำวินิจฉัยเห็นชอบด้วยกับคำคัดค้านตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยจากนายกพิเศษ

มาตรา 49  ในการประชุมใหญ่ของสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ต้องมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมด้วยตนเองไม่น้อยกว่าสามร้อยคนจึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าการประชุมคราวใดนายกไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองนายกเป็นประธานในที่ประชุม ถ้านายกและรองนายกไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้สมาชิกที่มาประชุมเลือกสมาชิกคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมเฉพาะการประชุมคราวนั้น มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก สมาชิกคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา 50  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้การประชุมใหญ่ของสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับ

10

หมวด 6

จริยธรรมสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

มาตรา 51  สมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ต้องประพฤติตนตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ การกำหนดจริยธรรมสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ให้สภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ตราเป็นข้อบังคับ

สมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับที่สภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติผู้นั้นประพฤติผิดจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

มาตรา 52  โทษผิดจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ มี 5 สถาน คือ

(1) ภาคทัณฑ์

(2) ห้ามทำการเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ มีกำหนดสามเดือน 

(3) ห้ามทำการเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ มีกำหนดหนึ่งปี 

(4) ห้ามทำการเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ มีกำหนดสามปี หรือ

(5) ลบชื่อออกจากทะเบียนสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

ในกรณีประพฤติผิดจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติเล็กน้อยและเป็นความผิดครั้งแรก ถ้าผู้มีอำนาจสั่งลงโทษตามมาตรา 66 มาตรา 67 หรือมาตรา 68 แล้วแต่กรณี เห็นว่ามีเหตุอันควรงดโทษ จะงดโทษให้โดยว่ากล่าวตักเตือน หรือให้ทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือไว้ก่อนก็ได้

มาตรา 53  ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติต้องประกอบด้วยข้อกำหนดดังต่อไปนี้

(1) จริยธรรมของสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติต่อผู้โดยสารทั่วไป และนักเดินทาง

(2) จริยธรรมของสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติต่อผู้โดยสารของตนโดยตรง

(3) จริยธรรมของสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติต่อสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติด้วยกัน

(4) จริยธรรมเกี่ยวกับความประพฤติของสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

(5) การแต่งกายของสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติและ

(6) การปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ คณะกรรมการ หรือนายกพิเศษแล้วแต่กรณี

หมวด 7

คณะกรรมการ จริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

มาตรา 54  ให้มีคณะกรรมการ จริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ประกอบด้วยประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติอื่นอีกไม่น้อยกว่าเจ็ดคนตามจำนวนที่คณะกรรมการกำหนด

11

ให้คณะกรรมการแต่งตั้งกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติจากสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ซึ่งมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(1) เป็นสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติมาแล้วรวมกันไม่น้อยกว่าสิบปี

(2) ไม่เคยถูกลงโทษฐานประพฤติผิดจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ หรือถูกจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

มาตรา 55  การแต่งตั้งกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติตามมาตรา 54 จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบของนายกพิเศษ

มาตรา 56  ให้นายกแจ้งการแต่งตั้งกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติตามมาตรา 54 ต่อนายกพิเศษโดยไม่ชักช้า ในกรณีที่นายกพิเศษไม่แจ้งผลการพิจารณาให้ความเห็นชอบกลับมายังนายกภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการแต่งตั้ง ให้ถือว่านายกพิเศษให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งนั้น

ในกรณีที่นายกพิเศษแจ้งกลับมายังนายกภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งว่าไม่ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งคณะกรรมการสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ หรือกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติคนใดคนหนึ่ง ให้คณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งนั้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ถ้าคณะกรรมการลงมติยืนยันการแต่งตั้งเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งคณะ ให้นายกแจ้งการแต่งตั้งนั้นต่อนายกพิเศษ ถ้านายกพิเศษไม่ให้ความเห็นชอบหรือไม่แจ้งกลับมาภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายก ให้นายกดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ หรือกรรมการคนนั้นได้

มาตรา 57  ประธานกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ควบคุมการพิจารณาคดีจริยธรรมสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติให้เป็นไปโดยรวดเร็วและเที่ยงธรรม และมีอำนาจหน้าที่อื่น ๆ ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้หรือในข้อบังคับ

เมื่อประธานกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้รองประธานกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติปฏิบัติหน้าที่แทนประธานกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ถ้าประธานกรรมการและรองประธานกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการที่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากประธานกรรมการปฏิบัติหน้าที่แทนประธานกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

มาตรา 58  กรรมการ จริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ มีวาระการดำรงตำแหน่งสามปีและอาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินกว่าสองวาระติดต่อกันมิได้ ถ้าตำแหน่งว่างลงก่อนถึงกำหนดวาระ ให้คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งซ่อมเว้นแต่วาระการอยู่ในตำแหน่งของกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติจะเหลือไม่ถึงเก้าสิบวัน คณะกรรมการจะไม่ดำเนินการแต่งตั้งซ่อมก็ได้ และให้นำบทบัญญัติมาตรา 55 และมาตรา 56 มาใช้บังคับแก่การแต่งตั้งซ่อมโดยอนุโลม

กรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติซึ่งได้รับแต่งตั้งซ่อมให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงวาระของผู้ที่ตนแทน

12

มาตรา 59  ในกรณีที่คณะกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะและยังไม่มีการแต่งตั้งคณะ กรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติใหม่ ให้คณะกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาตินั้นปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน จนกว่าคณะกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติคณะใหม่จะเข้ารับหน้าที่

ให้คณะกรรมการแต่งตั้งกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติใหม่ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คณะกรรมการ จริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติคณะเก่าพ้นจากตำแหน่ง

มาตรา 60  กรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(1) ครบวาระ

(2) ตาย

(3) ลาออก

(4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 54 วรรคสอง หรือ

(5) ขาดจากการเป็น สมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ตามมาตรา 44

มาตรา 61  ในการปฏิบัติหน้าที่ให้กรรมการ จริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการคัดค้านผู้พิพากษาตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง มาใช้บังคับแก่กรรมการ จริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติด้วยโดยอนุโลม

มาตรา 62  คณะกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติมีอำนาจแต่งตั้งสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นอนุกรรมการหรือคณะทำงาน ให้กระทำกิจการใดกิจการหนึ่งในขอบอำนาจของคณะกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ เว้นแต่การวินิจฉัยชี้ขาดคดีจริยธรรมสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

มาตรา 63  ในการพิจารณาคดีจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ต้องมีกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ มาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม

ภายใต้บังคับมาตรา 64 วรรคสาม และมาตรา 69 วรรคสาม การประชุมปรึกษา หรือการวินิจฉัยชี้ขาดคดีจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ของคณะกรรมการสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติให้ถือตามเสียงข้างมาก แต่กรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติฝ่ายข้างน้อยมีสิทธิทำความเห็นแย้งได้

มาตรา 64  บุคคลผู้ได้รับความเสียหายหรือสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติมีสิทธิกล่าวหาสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติว่าประพฤติผิด จริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ โดยทำคำกล่าวหาเป็นหนังสือยื่นต่อประธานกรรมการ จริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

สิทธิกล่าวหา สมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ตามวรรคหนึ่งเป็นอันสิ้นสุดลง เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้มีสิทธิกล่าวหารู้เรื่องการประพฤติผิดจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ และเมื่อรู้ตัวผู้ประพฤติผิดแต่ต้องไม่เกินสามปีนับแต่วันประพฤติผิด จริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

13

การถอนคำกล่าวหาที่ได้ยื่นตามวรรคหนึ่ง จะเป็นเหตุให้คดี จริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติระงับก็ต่อเมื่อคณะกรรมการ จริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการ จริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติที่มาประชุม อนุญาตให้ผู้กล่าวหาถอนคำกล่าวหาได้

มาตรา 65  เมื่อได้รับคำกล่าวหาตามมาตรา 64 วรรคหนึ่ง หรือเมื่อได้รับแจ้งจาก กรมการขนส่งทางบก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือพนักงานสอบสวน หรือเมื่อปรากฏแก่คณะกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติว่ามีพฤติการณ์อันสมควรให้มีการสอบสวน จริยธรรมสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติผู้ใด ให้คณะกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติแต่งตั้งสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติไม่น้อยกว่าสามคนเป็นคณะกรรมการสอบสวน ทำการสอบสวน เพื่อการนี้ให้คณะกรรมการสอบสวนมีอำนาจเรียกบุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำ และมีหนังสือแจ้งให้บุคคลใด ๆ ส่งหรือจัดการส่งเอกสารหรือวัตถุเพื่อประโยชน์แก่การสอบสวนได้

เมื่อคณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จแล้ว ให้เสนอเรื่องต่อประธานกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติเพื่อพิจารณาสั่งการตามมาตรา 66 ต่อไป

มาตรา 66  ในการพิจารณาคดีจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ คณะกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติมีอำนาจสั่งจำหน่ายคดี สั่งยกคำกล่าวหา หรือสั่งลงโทษหรือดำเนินการกับ สมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติที่ถูกกล่าวหาอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 52

มาตรา 67  ในกรณีที่คณะกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติมีคำสั่งตามมาตรา 66 ให้ประธานกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซีแห่งชาติส่งสำนวนคดี จริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาตินั้นไปยังนายกภายในสามสิบวันนับแต่วันมีคำสั่ง ในกรณีเช่นนี้ให้คณะกรรมการทำการพิจารณาและจะสั่งยืน แก้ หรือกลับคำสั่งของคณะกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ รวมทั้งสั่งลงโทษ หรือดำเนินการกับ สมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติที่ถูกกล่าวหาอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 52 ตามที่เห็นสมควรได้ และก่อนที่จะมีคำสั่งดังกล่าวคณะกรรมการอาจสั่งให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติทำการสอบสวนเพิ่มเติมก็ได้

เมื่อนายกได้รับสำนวนคดีจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติตามวรรคหนึ่งแล้ว หากคณะกรรมการมิได้วินิจฉัยและแจ้งคำวินิจฉัยมายังประธานกรรมการ จริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติภายในหกสิบวันนับแต่วันได้รับสำนวน ให้ถือว่าคณะกรรมการมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของคณะกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ เว้นแต่กรณีที่มีการสอบสวนเพิ่มเติม ระยะเวลาหกสิบวันให้นับตั้งแต่วันที่ได้รับสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติม

คำสั่งของคณะกรรมการที่ยืนตามให้จำหน่ายคดี หรือยกคำกล่าวหาตามวรรคหนึ่ง หรือวรรคสองให้เป็นที่สุด

มาตรา 68  สมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติซึ่งถูกสั่งลงโทษหรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 52 อาจอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อนายกพิเศษได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำสั่ง ในกรณีเช่นนี้ให้นายกพิเศษทำการพิจารณาและมีคำสั่ง และให้นำบทบัญญัติในมาตรา 67 วรรคหนึ่งและวรรคสอง มาใช้บังคับแก่การพิจารณาและการมีคำสั่งของนายกพิเศษโดยอนุโลม

คำสั่งของนายกพิเศษให้เป็นที่สุด

14

มาตรา 69  เมื่อสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติผู้ใดต้องรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษให้ศาลชั้นต้นที่อ่านคำพิพากษาถึงที่สุดนั้น มีหนังสือแจ้งการต้องโทษจำคุกของสมาชิกผู้นั้นให้ประธานกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติทราบ เมื่อได้รับหนังสือแจ้งตามวรรคหนึ่งแล้วให้ประธานกรรมการ จริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ เสนอเรื่องให้คณะกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ สั่งลบชื่อสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติผู้นั้นออกจากทะเบียนสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ แต่คณะกรรมการสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติจะไม่สั่งลบชื่อสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติผู้นั้นออกจากทะเบียนสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติก็ได้ หากพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำความผิดของสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติผู้นั้นไม่เป็นการกระทำที่ชั่วร้ายไม่เป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นว่า สมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติผู้นั้นไม่น่าไว้วางใจในความซื่อสัตย์สุจริต และไม่เป็นการกระทำที่เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ

คำสั่งไม่ลบชื่อสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติผู้กระทำผิดออกจากทะเบียนสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติตามวรรคสองต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดของคณะกรรมการสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

คำสั่งลบชื่อหรือไม่ลบชื่อสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติออกจากทะเบียนตามวรรคสองให้ประธานกรรมการสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติแจ้งต่อนายกภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่ง และให้คณะกรรมการทำการพิจารณา และจะสั่งยืน หรือกลับคำสั่งของคณะกรรมการสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติก็ได้

มาตรา 70  เมื่อมีคำสั่งอันถึงที่สุดลงโทษ สมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ที่ประพฤติผิดจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ หรือมีคำสั่งลบชื่อสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติออกจากทะเบียนสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ให้นายทะเบียนสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติจดแจ้งคำสั่งนั้นไว้ในทะเบียนสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ และแจ้งคำสั่งนั้นให้สมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติผู้ถูกกล่าวหาและผู้กล่าวหาทราบ

ในกรณีที่คำสั่งตามวรรคหนึ่งเป็นคำสั่งห้ามทำการเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ หรือคำสั่งลบชื่อออกจากทะเบียนสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ให้นายทะเบียนสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติแจ้งคำสั่งนั้นให้ขนส่งจังหวัดทั่วราชอาณาจักร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาทราบด้วย

มาตรา 71  บุคคลที่ถูกลบชื่อออกจากทะเบียนสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติจะขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตอีกมิได้ เว้นแต่เวลาได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันถูกลบชื่อ

มาตรา 72  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้การประชุมปรึกษา การสอบสวน การพิจารณา และการวินิจฉัยชี้ขาดคดีจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับ

หมวด 8

กองทุนสวัสดิการสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

มาตรา 73  ให้มีกองทุนสวัสดิการสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ประกอบด้วย

(1) เงินที่สภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ จัดสรรให้เป็นประจำปี

(2) ทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ และ

(3) ดอกผลของ (1) และ (2)

15

สมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติที่ได้รับความเดือดร้อนหรือทายาทของ สมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ที่ถึงแก่ความตายซึ่งได้รับความเดือดร้อน มีสิทธิขอรับการสงเคราะห์จากเงินกองทุนสวัสดิการสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ โดยยื่นคำขอต่อสวัสดิการสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ

การสงเคราะห์ การเก็บรักษา และการจ่ายเงินสวัสดิการสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับ

หมวด 9

การช่วยเหลือประชาชนทางการให้บริการรถยนต์สาธารณะ

มาตรา 74  ให้มีคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางการให้บริการรถยนต์สาธารณะประกอบด้วยนายก รองนายก เลขาธิการ และบุคคลอื่นอีกไม่เกินสิบคนที่คณะกรรมการแต่งตั้งจากผู้ที่เป็นสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี

ให้นายกเป็นประธานกรรมการ รองนายกเป็นรองประธานกรรมการและเลขาธิการเป็นเลขานุการ

มาตรา 75  ให้นำบทบัญญัติมาตรา 58 และมาตรา 60 มาใช้บังคับแก่กรรมการช่วยเหลือประชาชนทางการให้บริการรถยนต์สาธารณะที่คณะกรรมการแต่งตั้งตามมาตรา 74 วรรคหนึ่ง โดยอนุโลม

มาตรา 76  คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางการให้บริการรถยนต์สาธารณะมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) ให้การช่วยเหลือประชาชนทางการให้บริการรถยนต์สาธารณะตามมาตรา 79

(2) เก็บรักษาและจ่ายเงินกองทุนช่วยเหลือประชาชนทางการให้บริการรถยนต์สาธารณะตามมาตรา 77

(3) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กำหนดในข้อบังคับ

มาตรา 77  จัดสรรเงินให้มูลนิธิคุ้มครองผู้ใช้บริการรถยนต์สาธารณะ เพื่อช่วยเหลือประชาชนทางการให้บริการรถยนต์สาธารณะประกอบด้วย

(1) เงินที่สภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติจัดสรรให้เป็นประจำปีเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสิบห้าของเงินรายได้ของสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติตามมาตรา 9 (1) ของปีที่ล่วงมา

(2) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล

(3) ทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ และ

(4) ดอกผลของ (1) (2) และ (3)

มาตรา 78  ประชาชนผู้มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือทางการให้บริการรถยนต์สาธารณะต้องเป็นผู้ยากไร้

มาตรา 79  การช่วยเหลือประชาชนทางการให้บริการรถยนต์สาธารณะได้แก่

(1) การให้คำปรึกษา หรือแนะนำเกี่ยวกับการบริการ ประชาชนเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังที่หมายตามที่ตกลงไว้

(2) การจัดหาสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติมาให้บริการประชาชนยากไร้ที่เดือดร้อน

16

มาตรา 80  เมื่อมีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางการให้บริการรถยนต์สาธารณะต้องมีหนังสือแจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงเงินกองทุนช่วยเหลือประชาชนทางการให้บริการรถยนต์สาธารณะที่ยังเหลืออยู่ งบดุลและรายรับรายจ่ายของการช่วยเหลือประชาชนทางการให้บริการรถยนต์สาธารณะในรอบปี

ที่ผ่านมาซึ่งมีคำรับรองของผู้สอบบัญชีสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ รวมทั้งผลงานและอุปสรรคข้อขัดข้องการช่วยเหลือผู้ยากไร้ทางการให้บริการรถยนต์สาธารณะในรอบปีที่ผ่านมาให้ประธานกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางการให้บริการรถยนต์สาธารณะส่งสำเนาหนังสือแจ้งให้ที่ประชุมทราบตามวรรคหนึ่ง ไปยังนายกพิเศษ เพื่อทราบด้วย

มาตรา 81  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ การประชุมของคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางการให้บริการรถยนต์สาธารณะ การรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินกองทุนช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย การดำเนินการช่วยเหลือประชาชนทางการให้บริการรถยนต์สาธารณะให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับ

หมวด 10

บทกำหนดโทษ

มาตรา 82  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 33 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 83  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง ซึ่งให้มาเพื่อให้ถ้อยคำหรือให้ส่งหรือจัดการส่งเอกสารหรือวัตถุใดหรือมาตามหนังสือเรียกแล้วแต่ไม่ยอมให้ถ้อยคำโดยปราศจากเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 83 ห้ามมิให้ผู้มีอิทธิพลกระทำการเป็นผู้บริการรับเรียกรถ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 84 ห้ามมิให้ผู้มีอิทธิพลกระทำการเป็นผู้ประกอบการอู่รถ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

บทเฉพาะกาล

มาตรา 85  ให้ผู้ที่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติอยู่แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นผู้ที่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ถือว่าใบอนุญาตเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาตินั้น ๆ เป็นใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ให้มีอายุใช้ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ของปีที่พระราช บัญญัตินี้ใช้บังคับ

ให้ผู้ซึ่งขาดคุณสมบัติตามมาตรา 35 (3) ที่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตหรือเคยจดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็น สมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติอยู่แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ มีสิทธิขอต่ออายุใบอนุญาตตามมาตรา 39 และมาตรา 40 หรือขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตได้และให้ถือว่าผู้นั้นเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติตามพระราชบัญญัตินี้

ให้นำบทบัญญัติตามมาตรา 35 (1) (2) (4) (5) (6) (7) (8) (9) (10) และ (11) มาใช้บังคับแก่สมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ตามวรรคสองด้วย


17

มาตรา 86  ให้ กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ส่งมอบทะเบียนผู้ให้บริการรถยนต์สาธารณะแท็กซี่และรถตู้โดยสาร และบรรดาเอกสารที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ การต่ออายุใบอนุญาตเป็น สมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ และการควบคุม จริยธรรมสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ เว้นแต่สำนวนการร้องเรียนการให้บริการ และคดีจริยธรรมสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติที่ยังค้างพิจารณาอยู่ให้แก่สภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ในระหว่างที่คณะกรรมการยังมิได้ออกข้อบังคับว่าด้วย จริยธรรมสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ตามวรรคหนึ่งให้ถือว่าบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติขนส่งทางบก พ.ศ.2522 และการแต่งกายของ

พนักงานขับรถแท็กซี่ และรถตู้โดยสารที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นเสมือนข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติตามพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะมีข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติตามวรรคหนึ่ง

มาตรา 87  ให้คณะกรรมการออกข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติตามมาตรา 53 ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา 88  ให้มีคณะกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ตามมาตรา 54 ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่มีข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ตามมาตรา 86 วรรคหนึ่ง

ให้บรรดาคดี หรือการร้องเรียนจริยธรรมการให้บริการของสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ที่ค้างพิจารณาอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และคดีการร้องเรียนการให้บริการ เกี่ยวกับจริยธรรมของสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติที่เกิดขึ้นในขณะที่ยังไม่มีคณะกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ตามวรรคหนึ่งอยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่ง พระราชบัญญัติขนส่งทางบกพ.ศ 2522 ที่ใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจนกว่าจะเสร็จการ

เพื่อประโยชน์แห่งบทบัญญัติวรรคสอง ให้คณะกรรมการจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ และบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับคดีจริยธรรมสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หรือที่จะได้รับการแต่งตั้งเพื่อการปฏิบัติตามบทบัญญัติวรรคสอง มีอำนาจกระทำการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ที่ใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะเสร็จการ

มาตรา 89  ในวาระเริ่มแรกให้รัฐมนตรีแต่งตั้งสมาชิกสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ ซึ่งมีคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการตามมาตรา 17 วรรคสอง จำนวนสิบห้าคน ซึ่งในจำนวนนี้ต้องเป็นกรรมการบริหารของ สภาพวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะไทยสมาคมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม เป็นคณะกรรมการตามมาตรา 14  ทั้งนี้ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา 90  ให้คณะกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามมาตรา 88 เลือกและแต่งตั้งกรรมการด้วยกันเองคนหนึ่งเป็นนายกตามมาตรา 14  ทั้งนี้ ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีแต่งตั้ง

ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 14 ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และดำเนินการออกระเบียบเกี่ยวกับผู้มีอิทธิพลภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งตามมาตรา 14

       ร่างพระราชบัญัติสภาวิชาชีพแท็กซี่แห่งชาติ เสนอโดยสมาพันธ์ผู้ขับรถยนต์สาธารณะแห่งประเทศไทย และสภาวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะไทยสมาคม สนับสนุนโดยมูลนิธิคุ้มครองผู้ใช้บริการรถยนต์สาธารณะ

18

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ 

โดยที่ปัจจุบันการประกอบอาชีพผู้ให้บริการรถยนต์สาธารณะแท็กซี่และรถตู้โดยสาร ได้พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว รูปแบบการให้บริการมีความหลากหลาย มีเงินหมุนเวียนในธุรกิจนี้หลายหมื่นล้านบาทในแต่ละปี และผู้ประกอบอาชีพให้บริการรถยนต์สาธารณะแท็กซี่และรถตู้โดยสารได้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นอย่างมาก การให้บริการนักเดินทางจึงมีลักษณะเป็นวิชาชีพลักษณะเฉพาะประเภทหนึ่งซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศและต่อผู้โดยสารและนักเดินทาง ซึ่งเป็นผู้บริโภค องค์กรกำกับดูแลการให้บริการรถยนต์สาธารณะแท็กซี่และรถตู้โดยสาร จึงต้องมีความคล่องตัวเพื่อให้ทันต่อพัฒนาการของธุรกิจนี้ และต้องมีอิสระในการดำเนินงานเพื่อให้การกำกับดูแลการให้บริการรถยนต์สาธารณะแท็กซี่และรถตู้โดยสารเป็นไปตามหลักวิชาการ วิชาชีพด้านการให้บริการ แต่การกำกับดูแลการให้บริการรถยนต์สาธารณะแท็กซี่และรถตู้โดยสาร ในปัจจุบันเป็นอำนาจหน้าที่ของ กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ซึ่งไม่สอดคล้องกับลักษณะของการให้บริการที่จำเป็นต้องมีทักษะเฉพาะที่ควรอยู่ในความรับผิดชอบของ องค์กรอิสระที่มีลักษณะเฉพาะ นอกจากนี้กรมการขนส่งทางบกซึ่งดูแลในด้านของตัวยานพาหนะที่ใช้ประกอบอาชีพอยู่แล้ว มีฐานะเป็นส่วนราชการจึงไม่มีความคล่องตัวและขาดความเป็นอิสระในการกำกับดูแลการ ให้บริการรถยนต์สาธารณะ ประเภทแท็กซี่และรถตู้โดยสาร ดังนั้นเพื่อให้การกำกับดูแลการประกอบ อาชีพการให้บริการ และการคุ้มครองสิทธิของ ผู้โดยสารและนักเดินทาง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กรณีจึงสมควรให้มีคณะกรรมการสภาวิชาชีพแห่งชาติ ที่มีความเป็นอิสระและคล่องตัวในการกำกับดูแลการให้บริการผู้โดยสารและนักเดินทางขึ้นเป็นการเฉพาะ  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้